## ประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล.ครั้งที่ 2/2566 ##

Release Date : 19-06-2023 00:00:06
   ## ประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล.ครั้งที่ 2/2566 ##

## ประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล.ครั้งที่ 2/2566 ##
วันนี้ (19 มิ.ย.66) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 2/2566 โดย พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และรอง ผอ.ศรชล. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร ศรชล. พลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ/เลขาธิการ ศรชล. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหาร ศรชล. พร้อมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานหลัก 7 ศร ใน ศรชล. ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมประชุม ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
ที่ประชุม ศรชล. สัญจรครั้งที่ 2 ของปีนี้ จัดขึ้นในพื้นที่ ศรชล.ภาค 2 โดยได้หารืออย่างกว้างขวางในหลายวาระ ปรากฎสาระสำคัญสรุปนำเสนอดังนี้ ศรชล. ดำเนินการนำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566 - 2570) ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งกำหนดไว้ใน นโยบายและแผนความมั่นคงที่ 4 การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่มี ศรชล. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก มาเป็นกรอบในการจัดทำแผนงานและแผนงบประมาณของหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายและแผนฯ รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของนโยบายและแผนความมั่นคง ทั้ง 17 ด้าน มากำหนดแผนงาน/โครงการ/งบประมาณให้บรรลุเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์และตัวชี้วัด ตามวิสัยทัศน์ “ประเทศชาติมีเสถียรภาพ ประชาชนอยู่ดีมีสุข ปลอดภัยจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ มีศักยภาพบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติอย่างยั่งยืน”
ศรชล. โดย กรมประมง เห็นสมควรควบรวมสาระสำคัญพร้อมทั้งแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา พ.ศ.2566 – 2570 ไว้ใน (ร่าง) นโยบายและแผนบริหารจัดการประมง พ.ศ.2566 – 2570 เพื่อให้ครอบคลุมประเด็นสาระสำคัญของการพัฒนาประมงทั้งระบบอย่างครบถ้วน และสรุปรายงานเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบ และเสนอให้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ที่ประชุมรับทราบแนวทาง การแก้ไขข้อปรับปรุงในการรับตรวจจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) และการจัดทำแผนความร่วมมือ (Plan For Cooperation) ระหว่างผู้ให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือเรือโดยสารและบริษัท โดย ศรชล. ได้ส่งร่างแผนฯ ที่เป็นผลสัมฤทธิ์จากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ให้ สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) นำไปดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่ได้รับจากการรับตรวจประเมินประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMSAS) ด้านการให้บริการค้นหาและช่วยเหลือเรือประสบภัย ที่เกี่ยวข้องกับเรือโดยสารให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐาน IMO
อย่างไรก็ตาม สกชย. อยู่ระหว่างกำหนดห้วงเวลาและรูปแบบในการฝึกร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนตามที่กำหนดในร่างแผนฯ และจะรวบรวมฐานข้อมูลแผนความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือเรือโดยสาร และบริษัทต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงแนวทางการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดย กรมคุมครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีหนังสือแจ้งแนวทางการปฏิบัติที่ส่งผลกระทบให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย รวมถึง ศรชล. ต้องดำเนินการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัว อย่างไรก็ดี เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ทาง สำนักสืบสวนสอบสวนและกฎหมาย ศรชล. ได้เชิญวิทยากรจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มาบรรยายและให้ข้อเสนอแนะกับหน่วยงานต่างๆ ใน ศรชล. เพื่อให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
สำหรับวาระอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิเช่น ประกาศ ศรชล. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ศรชล. สำหรับคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการพลเรือน ศรชล. และพนักงานราชการ ศรชล. พึงปฏิบัติเพื่อรักษาจริยธรรม เน้นย้ำการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ด้วยความเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ให้บริการประชาชนโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลโดยปราศจากผลประโยชน์ส่วนตน
ที่ประชุมได้พิจารณา (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่ ศรชล. เพื่อรองรับการใช้หรือแสดงเครื่องหมายฯ เป็นไปตามพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 มาตรา 32 ให้ประดับเครื่องหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยการสวมศรีษะ หรือติดที่กึ่งกลางกระเป๋าบนขวาของเสื้อเครื่องแบบราชการ หรือเครื่องแบบพิเศษสำหรับข้าราชการ ศรชล. สำหรับการปฏิบัติงานปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล.
“ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”